top of page
รูปภาพนักเขียนKp-Clear Blog Team

การใช้เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของAHAหรือBHAขณะตั้งครรภ์


การดูแลผิวในขณะที่ตั้งครรภ์จะต้องมีความระมัดระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากผลของฮอร์โมนขณะตั้งครรภ์ และขนาดร่างกายที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดปัญหาผิวหนังต่างๆเกิดขึ้น เช่นอยู่ดีๆก็มีอาการสิวเห่อขึ้น หรือในบางกรณีคุณแม่ตั้งครรภ์ก็มีปัญหา Keratosis pilaris (KP,ขนคุดจากพันธุกรรม) ขึ้นมา หรือพบว่ามีอาการ KP รุนแรงมากขึ้น

คุณแม่ที่ยังกังวลว่าจะสามารถใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้เหมือนเดิมหรือไม่ขอให้ศึกษาบทความต่อไปนี้


ใช้ได้เหมือนเดิมระวังเพิ่มเติมซักนิด

การบรรเทาอาการขนคุดหรือ KP ยังคงใช้หลักการเดิมคือ การบำรุงรักษาความชุ่มชื้นให้ผิวหนัง การหลีกเลี่ยงการอาบน้ำอุ่นจัด งดการขัดถูรุนแรง และเลือกใช้ผลิตภัณฑ์อาบน้ำที่ไม่เป็นด่างรุนแรง ในขณะที่การใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกรด AHA และ BHA ยังคงมีความปลอดภัย ภายใต้เงื่อนไขของสภาพผิวแต่ละบุคคลและบริเวณพื้นที่ผิวในการทา เนื่องจากผิวหนังอาจมีความไวหรือความอ่อนไหวต่อกรดในขณะที่ตั้งครรภ์แต่ต่างกันออกไปในแต่ละบุคคล ซึ่งผู้ใช้สามารถทดสอบโดยการทาผลิตภัณฑ์ในปริมาณเล็กน้อยบนท้องแขนเพื่อสังเกตอาการแพ้หรือการระคายเคืองภายใน 48 ชั่วโมง การเผชิญกับแสงแดดอาจยิ่งทำให้เกิดการระคายเคืองรุนแรงมากขึ้น

สำหรับกรณีการใช้ BHA ในการรักษาสิว (โดยปกติจะเป็น Salisylic Acid ดูได้ในสลากของผลิตภัณฑ์)ก็ยังสามารถใช้ได้ แต่ทั้งนี้ให้ระมัดระวังส่วนผสมอื่นด้วยเนื่องจาก ผลิตภัณฑ์ประเภทยาแต้มสิวมักมีส่วนผสมหลายๆอย่างไม่ใช่เพียง Salicylic Acid เท่านั้น

โดยสรุปการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกรด AHA (Lactic acid หรือ Glycolic acid) ไม่เกิน 10% และ BHA (Salicylic acid)ไม่เกิน 2% ยังถือว่ามีความปลอดภัย เนื่องจากไม่มีการดูดซึมของกรดเข้าสู่กระแสเลือด จึงไม่มีผลต่อทารกในครรภ์ เว้นแต่อาจเกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังในรายที่ผิวมีความบอบบางมากขึ้นขณะตั้งครรภ์ จึงแนะนำให้ใช้เท่าที่จำเป็น ไม่ทาเป็นบริเวณกว้างซึ่งอาจเลือกแต้มเฉพาะจุด ไม่ทาบริเวณที่ผิวหนังบอบบาง(ซึ่งเป็นหลักทั่วไปอยู่แล้ว) และไม่เผชิญกับแสงแดด(ซึ่งเห็นหลักทั่วไปเช่นกัน)

อย่างไรก็ตามหากคุณแม่มีความกังวลในการใช้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ขอแนะนำให้ทดลองบำบัดอาการ KP ด้วยวิธีธรรมชาติ เช่น การพอกโยเกิร์ตบริเวณที่เป็น KP ประมาณ 10-15 นาที ซึ่งกรด AHA ในโยเกิร์ตจะสามารถผลัดเซลล์ผิวได้อย่างอ่อนโยนเป็นธรรมชาติ การใช้น้ำมันมะพร้าวแทนการใช้ครีมหรือโลชั่นเพื่อรักษาความชุ่มชื้นให้แก่ผิว การรับประทานอาหารให้ถูกหลักโภชนาการ และรวมทั้งการพักผ่อนอย่างเพียงพอ


สิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยง

สุดท้ายนี้ขอฝากความรู้เกี่ยวกับยาและเครื่องสำอางต้องห้ามสำหรับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์

  1. ยารักษาสิว กลุ่มกรดวิตามินเอหรือเรตินอยด์ ได้แก่ Tretinoin, Isotretinoin, Adapaleneและ Tazarolene จัดเป็นยาอันตรายที่มีผลต่อทารกในครรภ์ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความพิการได้ ควรหลีกเลี่ยงทั้งชนิดทาและชนิดกิน (หยุดยาก่อนการตั้งครรภ์อย่างน้อย 3 เดือน - 1 ปี และงดระหว่างการตั้งครรภ์)

  2. เครื่องสำอางที่ผสมอนุพันธ์เอสเทอร์ของกรดวิตามินเอ (retinyl esters) เช่น retinyl propionate และ retinyl palmitate

  3. การใช้ยารักษาฝ้า จะต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์ผิวหนัง ไม่ซื้อครีมทาฝ้ามาใช้เอง

  4. หลีกเลี่ยงการใช้ AHA และ BHA ที่เข้มข้นสูง เพื่อลอกผิว (Skin Chemical Peel) ซึ่งพบว่ามีให้บริการในคลินิกเสริมความงามหรือสถานเสริมความงาม

พึงระลึกเสมอว่า

  1. ไม่มีเครื่องสำอางใดที่จะไม่มีคนแพ้เลย เนื่องจากการแพ้เครื่องสำอางขึ้นอยู่กับสภาพแต่ละบุคคลที่ตอบสนองต่อสารเคมีไม่เท่ากัน

  2. ไม่มีเครื่องสำอางใดที่ผลิตจากสารธรรมชาติ 100% ผลิตภัณฑ์ทุกชนิดจำเป็นต้องเติมสารสังเคราะห์เพื่อให้ได้คุณลักษณะทางกายภาพและทางเคมีเหมาะสมต่อการใช้งานและเหมาะสมในการตั้งตำรับผลิตภัณฑ์

  3. สารสกัดธรรมชาติบางชนิดก็สามารถก่อให้เกิดการแพ้ได้ หรืออาจมีพิษก็ได้ ไม่สามารถรับประกันได้เลยว่าอะไรที่มาจากธรรมชาติแล้วจะดีและปลอดภัยเสมอ


bottom of page